PwC เปิดตัว “สมการใหม่” กลยุทธ์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ
● ตั้งงบลงทุนมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า สร้างงานใหม่กว่า 100,000 ตำแหน่ง
● พันธกิจเบื้องต้นรวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านอีเอสจีแห่งใหม่ สถาบันความเป็นผู้นำ การเร่งใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนคุณภาพของการตรวจสอบบัญชี
● กลยุทธ์มุ่งเน้นไปที่การช่วยลูกค้าสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ กรุงเทพ, 3 กันยายน 2564 – PwC เปิดตัว “สมการใหม่” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ระดับโลกที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในโลกไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์การเมืองที่มีความแตกแยก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกลยุทธ์ “สมการใหม่” นี้ เกิดจากการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบกับการสนทนากับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนหลายพันราย บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตของรายได้อย่างยั่งยืนมานานกว่าทศวรรษและการลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัท
ทั้งนี้ กลยุทธ์ “สมการใหม่” มุ่งเน้นไปที่ความต้องการที่เชื่อมโยงถึงกันสองประการที่ลูกค้าจะต้องเผชิญในปีต่อ ๆ ไป ดังต่อไปนี้
ประการแรก คือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งไม่เคยมีความสำคัญมากและสร้างได้ยากยิ่งขนาดนี้มาก่อน องค์กรจำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจในประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จนี้ ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดของผู้บริหาร วัฒนธรรมองค์กร ระบบ และจุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ
ประการที่สอง คือ การส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่การแข่งขันและความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักของธุรกิจนั้นรุนแรงกว่าที่เคย รวมถึงความคาดหวังของสังคมที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้นเพื่อดึงดูดเงินทุน บุคลากรมากความสามารถ และลูกค้า อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเราจะพบว่า โครงการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต้องพบกับข้อจำกัดและไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสาะหาแนวทางใหม่ นาย บ็อบ มอริตซ์ ประธาน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า
“การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งใด ๆ ในโลกได้ จะต้องอาศัยการทำธุรกิจบนพื้นฐานของการได้รับความไว้วางใจและการส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยการนำความสามารถเฉพาะตัวของเรามาผนวกเข้ากับการลงทุนอย่างจริงจัง และความมุ่งมั่นในการส่งมอบงานที่มีคุณภาพจะทำให้เราสามารถช่วยเหลือองค์กรเหล่านี้ได้ ซึ่งในการทำเช่นนั้น เรายังจะได้ช่วยปลดล็อคคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมในวงกว้างด้วย”PwC จะช่วยสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้อย่างไรรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่อาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาของ PwC ถือเป็นรากฐานของกลยุทธ์นี้ในการสร้างให้เกิดศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลาย เพื่อช่วยลูกค้าสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจนี้ ยังทำให้เกิดการลงทุนในระดับที่สมดุลกับความสามารถในการส่งมอบงานที่มีคุณภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมได้ ซึ่งเครือข่าย PwC ทั่วโลก มีแผนที่จะลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างงานในตำแหน่งใหม่ ๆ เพิ่มอีก 1 แสนตำแหน่ง ตลอดจนพัฒนาทักษะของหุ้นส่วนและพนักงานของ PwC อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางในการสร้างความไว้วางใจของ PwC ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความคาดหวังต่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งการตรวจสอบบัญชี ภาษี และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงความสามารถเฉพาะทางทั้งในเรื่องปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (อีเอสจี) และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดย PwC ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพ ที่การรายงานและการปฏิบัติตามกฎระเบียบจะต้องมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมองค์กร ความคิดของผู้บริหาร มาตรฐานที่สอดคล้องกัน ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรอง การควบคุมที่เข้มงวด เทคโนโลยีที่ถูกปรับให้เข้าการดำเนินธุรกิจ และการกำกับดูแลที่เหมาะสม
เช่นเดียวกับการส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนที่ต้องอาศัยวิธีการแบบบูรณาการ PwC จะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่สร้างความสำเร็จ แทนที่แนวทางของการใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เราจะระดมทีมผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาตั้งแต่การวางกลยุทธ์ บริการด้านดิจิทัลและคลาวด์ การสร้างมูลค่า บุคลากรและองค์กร ภาษี อีเอสจี ดีลส์ บริการด้านการฟื้นฟูธุรกิจ กฎหมายและการปฏิบัติตาม และบริการด้านอื่น ๆ เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจให้แก่ลูกค้า
สำหรับแผนการลงทุนของเครือข่าย PwC นั้น รวมถึง ● อีเอสจี PwC จะขยายศูนย์รวมความเป็นเลิศของผู้เชี่ยวชาญด้านอีเอสจี รวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนจัดตั้งสถาบันการศึกษาอีเอสจีระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้หุ้นส่วนและพนักงานของ PwC สามารถบูรณาการความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอีเอสจีเข้ากับงานของตนได้ โดยมีหุ้นส่วน 1,000 รายจากเครือข่าย 60 ประเทศ ได้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาทางธุรกิจอันเป็นผลมาจากแนวโน้มวิกฤตต่าง ๆ ที่สำคัญของโลก ● คุณภาพ PwC จะลงทุนเพื่อเสริมสร้างคุณภาพของบริการด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกนำไปใช้ในการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในกรอบการทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพของงานตรวจสอบบัญชี ตลอดจนการสร้างแบบจำลองสำหรับงานตรวจสอบบัญชีในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้ข้อมูลประเภทต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งการประเมินความเสี่ยง และบูรณาการข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินจะต้องมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยการลงทุนในเทคโนโลยีนี้ จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ โดยเรายังคงฝึกอบรมพนักงานและดำเนินการส่งมอบงานคุณภาพภายใต้ระเบียบวิธีที่เข้มงวดครอบคลุมทั่วทุกสายงาน ● สถาบันความเป็นผู้นำ วันนี้ผู้นำต้องการทักษะใหม่ ๆ เพื่อช่วยจัดการกับความไม่แน่นอน สร้างวัฒนธรรมที่ครอบคลุม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน สถาบันความเป็นผู้นำแห่งใหม่ จึงจะถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสถาบันแห่งแรกจะถูกจัดตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำมากกว่า 10,000 คนในระดับ C-suite ผู้บริหาร และคณะกรรมการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ได้เรียนรู้ในการสร้างความไว้วางใจ นอกจากนี้ สถาบันความเป็นผู้นำอีกหนึ่งแห่งจะถูกจัดตั้งขึ้นในทวีปเอเชียแปซิฟิก ซึ่งน่าจะได้มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ● เทคโนโลยี PwC จะดำเนินกลยุทธ์ขององค์กรที่มีบุคลากรเป็นผู้นำ แต่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยจะขยายการใช้งานคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ พันธมิตรด้านเทคโนโลยี ความเป็นจริงเสมือน และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อส่งมอบข้อมูลเชิงลึกและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับลูกค้า นอกจากนี้ PwC กำลังเร่งนำผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น และทำให้บุคลากรของ PwC สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีผ่านระบบอัตโนมัติ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และช่วยให้เกิดข้อมูลเชิงลึกและคุณค่าใหม่ ๆเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เป็นที่รู้จักในเอเชียแปซิฟิกทั้งนี้ กลยุทธ์ “สมการใหม่” จะช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจของ PwC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยมูลค่าการลงทุนถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนลูกค้าในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความปรารถนาที่จะเพิ่มขนาดธุรกิจให้เป็นสองเท่าภายในปี 2569 และขยายขอบเขตการเป็นผู้นำในตลาด
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น PwC จะจัดตั้ง “สถาบันเอเชียแปซิฟิก” เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างความไว้วางใจ นอกเหนือไปจากการยกระดับพนักงานมากความสามารถ และโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำในภูมิภาค
นอกจากนี้ PwC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยังมีแผนที่จะขยายขอบเขตการให้บริการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ๆ ครอบคลุมประเด็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล การควบรวมกิจการ และการสร้างคุณค่าผ่านดีลส์ การให้ความเชื่อมั่นที่นอกเหนือไปจากงบการเงิน รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศูนย์กลางการส่งมอบงานของภูมิภาค
นาย บ็อบ มอริตซ์ กล่าวต่อว่า
“ในการบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เราได้ระดมทีมงานมืออาชีพที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และมีความเชี่ยวชาญเชิงลึกในหลากหลายสาขา เราจะไม่หยุดนิ่งในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และขยายขีดความสามารถในด้านที่มีความสำคัญสำหรับอนาคต โดยเราจะยึดมั่นในการส่งมอบงานที่มีคุณภาพอย่างไม่ลดละ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังทั้งของผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมส่วนรวม”ความมุ่งมั่นของ PwC ประเทศไทยในฐานะที่ PwC ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สมการใหม่” ของเครือข่าย PwC เราจึงได้ประกาศแผนงานเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดของเรา ดังต่อไปนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Transformation) เราจะมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าที่กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยเรามองเห็นถึงโอกาสสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในการเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง การเปลี่ยนระบบไปสู่คลาวด์คอมพิวติ้ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น ในขณะที่เราจะยังมุ่งเน้นไปที่การดูแลบุคลากร เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร และจะเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่การวางกลยุทธ์ไปจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานจริงให้ประสบผลสำเร็จ 2.การสร้างคุณค่าผ่านดีลส์ (Deals value creation) เราจะมุ่งเน้นการให้บริการงานทางด้านดีลส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาและหาพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าสนใจ (Pre Deal) การวางกลยุทธ์ การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) และการประเมินมูลค่า (Valuation) ไปจนถึงการหลอมรวมของสองกิจการให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในทุกด้านหลังการควบรวมเสร็จสิ้น (Post-merger integration) เพื่อสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับองค์กร ทั้งนี้ แนวโน้มที่ธุรกิจจะขยายการเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ (Mergers and acquisitions) จะยิ่งมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่บริษัทใช้ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากคู่แข่ง 3.การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เราจะมุ่งเน้นการให้บริการลูกค้าที่ต้องการวางกลยุทธ์ด้านอีเอสจี การเปิดเผยข้อมูลด้านอีเอสจีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องเปิดเผยในรายงานประจำปี รวมไปถึงการให้ความเชื่อมั่นต่อรายการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Assurance) โดยจะเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการ และการออกเอกสาร ในระยะต่อไป บริษัทไทยจะไม่สามารถต้านทานกระแสโลกที่กำลังตื่นตัวในเรื่องนี้ และในที่สุดก็ต้องหันมาให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางอีเอสจีเพิ่มมากขึ้น“เรานำคนที่ดีที่สุด บุคลากรที่มีความสามารถมากที่สุด อีกทั้งเทคโนโลยีที่ดีที่สุด มารวมไว้กันในการให้บริการลูกค้า ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้เราสามารถสร้างความไว้วางใจ และส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้ธุรกิจและสังคมของพวกเขาได้” นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวสร้าง PwC ให้แหล่งผู้เชี่ยวชาญที่ชื่นชอบการแก้ไขปัญหาความท้าทายสำคัญที่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกำลังเผชิญจะถูกแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ ต้องอาศัยการมีทีมผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเป็นมืออาชีพจากหลากหลายสาขา ด้วยเหตุนี้ PwC จึงตอกย้ำความมุ่งมั่นเดิมเป็นสองเท่าในการดึงดูดและเตรียมความพร้อมให้กับคนของเราเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ โดยเราจะผนวกความรู้ ความสามารถของบุคลากรเข้ากับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน พร้อมสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า
PwC จะดึงดูดบุคลากรมากความสามารถอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนการปฏิบัติงานที่มีความยืดหยุ่น และสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ รวมไปถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับทักษะให้กับบุคลากรของเรา
สำหรับแผนการรับตำแหน่งงานใหม่จำนวน 100,000 ราย เครือข่าย PwC จะมุ่งเน้นไปที่การสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านใหม่ ๆ ตั้งแต่อีเอสจี ไปจนถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ PwC จะว่าจ้างบุคลากรในระดับเริ่มต้นมากกว่า 30,000 รายในแต่ละปี และจะให้การฝึกฝนอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและคุณสมบัติที่จำเป็นให้พนักงานได้มีเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพไม่ว่าจะปฏิบัติงานที่ PwC หรือที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
นาย บ็อบ มอริตซ์ กล่าวว่า
“เราต้องการให้บุคลากรของเราเป็นคนที่ตลาดต้องการตัวมากที่สุด เพราะมีทั้งทักษะทางด้านเทคนิค ดิจิทัล และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน เรามีความภาคภูมิใจที่มีคนจำนวนมากเริ่มต้นการทำงานที่ PwC ก่อนที่จะก้าวต่อไปที่อื่น โดยเรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการฝึกอบรมและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ สำหรับผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่ต่อไป”
สำหรับ PwC ประเทศไทย เราจะขยายโอกาสในการสร้างความหลากหลายและสนับสนุนความแตกต่างของพนักงานภายในองค์กร (Diversity and Inclusion: D&I) ทั้งในด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม เพราะเราเชื่อมั่นว่า ความแตกต่างหลากหลายจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภารกิจของเราให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ เราจะให้ความสำคัญอย่างมากในการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือในการทำงานที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในขณะเดียวกัน เรายังคงมุ่งมั่นในการยกระดับทักษะด้านดิจิทัล (Digital upskilling) และเสริมทักษะเดิมที่มีอยู่ (Reskilling) ของพนักงาน เช่น ทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง และทักษะทางสังคมอื่น ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้ จะยิ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคตส่งมอบอนาคตสังคมปลอดคาร์บอน และเพิ่มความโปร่งใสนอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเครือข่าย PwC ทั่วโลกยังได้ตั้งปณิธานร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในวงจรห่วงโซ่คุณค่า และการบรรลุเป้าหมายเฉพาะในการลดก๊าซเรือนกระจกตามฐานวิทยาศาสตร์ (Science-based target initiative: SBTi) ทั้งนี้ บริษัทเครือข่ายของ PwC ในแต่ละแห่งทั่วโลก ยังได้แต่งตั้งหัวหน้าสายงานการลดคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อขับเคลื่อนความคืบหน้าของแผนงานในแต่ละประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น PwC ยังได้เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานในเรื่องนี้ ผ่านการจัดทำรายงานบนพื้นฐานตัวชี้วัดของสภาธุรกิจนานาชาติและสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum/International Business Council) รวมไปถึงคำแนะนำของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council on Sustainable Development) อีกด้วย
นาย บ็อบ มอริตซ์ กล่าวต่อว่า
“ผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วนของสังคมต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังขยายวงกว้างไม่ว่าจะเป็นการระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือแม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งกลยุทธ์ใหม่ของเราคือ การช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถจัดการกับความท้าทายที่ยากยิ่ง และส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กับสังคมและโลกใบนี้”###
เกี่ยวกับ PwCที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 155 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 284,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.comเกี่ยวกับ PwC ประเทศไทยPwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 62 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศ
PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2021 PwC. All rights reserved