enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » ฟีโบ้ เตรียมแผนพัฒนา“CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยา”เพิ่ม รองรับความต้องการ « previous next » Print Pages: [1] Go Down happy on September 01, 2021, 11:32:22 PM ฟีโบ้ เตรียมแผนพัฒนา “CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยา” เพิ่ม รองรับความต้องการใช้งานในโรงพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ฟีโบ้ ชี้แนวโน้มความต้องการ “CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยา” ในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มส่อเค้าวิกฤติ ทำให้ล่าสุดมียอดความต้องการใช้หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดทั้งจากในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สูงขึ้นมากกว่า 500 ตัว ขณะที่สถาบันธัญญารักษ์ ยืนยัน ใช้ “หุ่นยนต์ CARVER-Mini” ช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ลดความเสี่ยงติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ได้ผลจริง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังคงความรุนแรง ทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละหลายหมื่นคน วิกฤติดังกล่าวยังส่งผลต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเกิดภาวะงานล้นมือ และเกิดความเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ได้มีการจัดส่ง CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยาสำหรับปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น ตามแผนการส่งมอบในโครงการให้กับ สปสช. รวม 10 ตัว ภายใต้ทุนสนับสนุนจากบริษัทอาซาฮี-ไทยอัลลอย จำกัด ผู้ผลิตก๊อกน้ำ SANWA โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการส่งมอบให้กับ สปสช. ไปแล้ว 2 ตัว เพื่อนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลสนามบุษราคัม และสถาบันธัญญารักษ์ ล่าสุด ฟีโบ้ ยังได้ดำเนินการส่งมอบหุ่นยนต์ CARVER-Mini เพื่อนำไปใช้ในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์จำนวน 2 ตัว และมอบให้กับสถาบันธัญญารักษ์ เพิ่มอีก 4 ตัว รวมเป็นจำนวนที่ส่งมอบภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ทั้งสิ้น 6 ตัว ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า หุ่นยนต์ CARVER-Mini พัฒนาโดยทีมวิจัยฟีโบ้ ประกอบด้วย นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากบริษัท อาซาฮี-ไทยอัลลอย จำกัด จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิค-19 ในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลที่มีความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อลงได้มาก จุดเด่นของหุ่นยนต์ CARVER-Mini คือ ผู้ใช้บริการสามารถบังคับด้วยระบบ Tele-operation ควบคุมการเคลื่อนที่เองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถขนส่งอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยใช้บริการด้วยตนเอง สามารถบรรทุกน้ำหนักได้อย่างน้อย 60 กิโลกรัม และสามารถสื่อสารระยะไกลระหว่างแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย คุยโต้ตอบกันได้ผ่าน Web-application จุดเริ่มต้นของการพัฒนา ผศ.ดร.สุภชัย กล่าวว่า เพราะว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่น่าจบง่ายๆ ทางฟีโบ้เองมีหุ่นยนต์ที่น่าจะมาช่วยเรื่องการขนส่ง เพื่อลดภาระของบุคลากรได้ จึงนำเทคโนโลยีที่เรามีอยู่คือ หุ่นยนต์ CARVER ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดหุ่นยนต์มดบริรักษ์ ประกอบด้วย เทคโนโลยี Autonomous Mobile Robot Platform – CARVER-AMR เป็นตัวฐานด้านล่าง ส่วนด้านบนจะเป็นถาดหรือดัดแปลงได้ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน จากช่วงแรกเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้อัตโนมัติ นำมาพัฒนาต่อยอดตามความต้องการการใช้งานในพื้นที่จริง หลังจากที่ทีมฯ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้เข้าใจระบบต่างๆ ของโรงพยาบาลแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ตอบโจทย์การใช้งานในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์และเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนาและผลิตประมาณ 1 เดือน “การใช้หุ่นยนต์ในโรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับงาน 3 เรื่องหลัก คือ งานสกปรก งานอันตราย และงานที่ต้องทำซ้ำๆ ถ้าตอบได้ 3 เรื่องนี้ก็จะตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลได้มาก แม้ก่อนหน้านี้ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องของการรักษาผู้ป่วยโควิด จึงยังให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ค่อนข้างน้อย แต่ในตอนนี้ด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นจำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายแห่งมองว่ามีความจำเป็นที่จะนำหุ่นยนต์ CARVER-Mini ไปใช้มากขึ้นทั้งในพื้นที่กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง เพราะจะช่วยลดจำนวนครั้งในการเข้าพื้นที่เสี่ยงของเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ ล่าสุดจากการสำรวจพบว่า มีความต้องการ หุ่นยนต์บริการเพื่อใช้งานในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 มากกว่า 500 ตัว ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และยังมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นทางทีมงานตอนนี้กำลังเตรียมแผนที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิต CARVER-mini เพิ่มเพื่อรองรับกับความต้องการ” นพ.อังกูร ภัทรากร รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) หรือสถาบันธัญญารักษ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม สถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลเปิดรับการดูแลผู้ป่วยโควิดมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เริ่มแรกมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามมี 215 เตียงจากเดิม 200 เตียง และส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการหนักหรือผู้ป่วยโคฮอร์ทวอร์ด ที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกจำนวน 33 เตียง ล่าสุด ยังได้ดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation อีก 60 ราย สถานการณ์ตอนนี้ยอมรับว่าจากการตรวจเชิงรุกทำให้พบจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่มีเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบบครอบครัว “การที่เราจะดูแลผู้ป่วยซึ่งมีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะหากมีการสัมผัสหรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย การมีหุ่นยนต์เข้ามาถือว่าได้ประโยชน์อย่างมาก จากการทดลองใช้หุ่นยนต์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาถือว่าได้ช่วยลดโอกาสความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ลงได้มาก เราใช้หุ่นยนต์ในการที่จะช่วยส่งยา ส่งผ้า หรือส่งขนมให้กับน้อง ๆ ผู้ติดเชื้อ ซึ่งหุ่นยนต์จะช่วยผู้ป่วยที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ และเข้าใจถึงแนวทางการให้บริการ การใช้งานถือว่าได้ผลดี ลดโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะไปสัมผัสผู้ป่วยอันนี้ถือว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่ง” สำหรับหุ่นยนต์ CARVER-Mini ที่เพิ่มขึ้นอีก 4 ตัว นพ.อังกูร กล่าวว่า โรงพยาบาลมีความยินดีอย่างมากและจะนำหุ่นยนต์ไปไว้ประจำชั้นละหนึ่งตัว เนื่องจากโรงพยาบาลมีอยู่ 3 ชั้น และมีตึกเฉพาะกิจอีก 2 ชั้น การได้หุ่นยนต์มาเพิ่มประจำทุกชั้นจะทำให้การทำงานของพยาบาลมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เรามีอยู่แล้วหนึ่งตัวและได้เห็นผลจริงจากการใช้งานหุ่นยนต์ตัวแรก จึงต้องการเพิ่มหุ่นยนต์มาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถบรรจุอาหารได้มากขึ้นก็จะช่วยให้งานบริการและดูแลผู้ป่วยโควิดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านนางสาวสรารัตน์ ปิดนุ้ย พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ สถาบันธัญญารักษ์ พยาบาลประจำห้องผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม ในฐานะผู้ใช้งาน กล่าวว่า “เราไม่เคยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ช่วงแรก ๆ ที่นำมาใช้การบังคับยังไม่คล่องแต่พอใช้ไปทุกวันก็จะเริ่มรู้วิธีบังคับทำให้การเคลื่อนตัวเร็วขึ้นและจากที่ได้ใช้งานจริงๆ ก็ถือว่าง่าย” สำหรับการใช้งานของหุ่นยนต์ จะทำหน้าที่ขนส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยโควิด ประมาณ 5-6 รอบต่อวัน มีรอบส่งยา 3 รอบต่อวัน แต่ละรอบอัตราของผู้รับยาอยู่ประมาณ 10-15 ราย ระยะเวลาในการใช้งานต่อ 1 รอบประมาณ 45 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมงแล้วแต่จำนวนยา นอกจากนี้ยังมีรอบส่งเสื้อผ้า 2-3 รอบต่อวัน ลักษณะการใช้งานแต่ละรอบจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้การใช้งานหุ่นยนต์จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หน้างาน เนื่องจากโรงพยาบาลมีกิจกรรมหรืองานที่ต้องทำมากมายตั้งแต่เวลาประมาณ 8.00 น. ถึง 20.00 น. หากมีกิจกรรมที่ต้องทำกับผู้ป่วยมากขึ้นก็จะต้องใช้งานหุ่นยนต์มากขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโหลดได้ “การมีหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นในฐานะผู้ใช้งานถือว่ายินดีมาก เพราะที่มีอยู่ 1 ตัว สามารถใช้ได้แค่ 1 ชั้น การได้เพิ่มมาอีก 4 ตัว จะได้กระจายไปแต่ละชั้น ก็จะช่วยลดภาระงาน ลดจำนวนคนในการเข้าถึงผู้ป่วยได้มาก เนื่องจากการเข้าถึงตัวผู้ป่วยโควิดหนึ่งคนเป็นการไปใกล้ชิดกับบุคคลที่ติดเชื้อย่อมมีความเสี่ยงพอเอาหุ่นยนต์เข้าไปแทนเราเองก็ไม่ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมี video call ทำให้เราสามารถพูดคุยสื่อสารและเห็นหน้ากันได้ สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยผ่านจอ จากปกติถ้าไม่ใช้หุ่นยนต์เราก็จะสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ที่เราเคยใช้อยู่เดิมแต่ไม่สามารถเห็นหน้าตาของผู้ป่วยได้ พอเป็นหุ่นยนต์ทำให้เป็นการสื่อสารสองทางที่มีประโยชน์” นางสาวสรารัตน์ กล่าว « Last Edit: September 01, 2021, 11:48:11 PM by happy » Logged Print Pages: [1] Go Up « previous next » enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » ฟีโบ้ เตรียมแผนพัฒนา“CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนส่งอาหารและยา”เพิ่ม รองรับความต้องการ