happy on August 31, 2021, 08:25:23 AM
เด็กติดน้ำหวาน...เปลี่ยนพฤติกรรมก่อนสายเกินไป

โดย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ


                พฤติกรรมติดหวาน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ยังคงเป็นปัญหาในเด็กวัยเรียน ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ประกอบกับช่วงนี้ เด็กปิดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้น้องๆ หนูๆ วัยเรียน จำเป็นต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน นั่นจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กเคลื่อนไหวน้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะอ้วนลงพุง​ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะมีเด็กเป็นโรคอ้วนทั่วโลกมากถึง 70 ล้านคน เด็กที่มีภาวะอ้วน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมากถึง ร้อยละ 25  มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึงร้อยละ 40 มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า ร้อยละ 60 สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 6-14 ปี พ.ศ. 2562 - 2563 ภาพรวมทั่วประเทศพบว่า เด็กอายุ 6 - 14 ปี  สูงดีสมส่วน 61.5% และ 65.7 % ตามลำดับ เด็กเริ่มอ้วนและอ้วนมีแนวโน้มสูงขึ้น 13.6 % และ 12.5 % ตามลำดับ


                และจากผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียน โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานในกลุ่มนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ใน 1 วัน จะมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเฉลี่ยสูงถึง 86.5 % มีเพียง 13.5 % ที่ดื่มน้ำเปล่า


                เด็กวัยเรียนควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยมีคำแนะนำในการบริโภคอาหารดังนี้

       1.  กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
       2.  พยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ไม่เกิน 4 ช้อนชา
       3.  ดื่มนมพร่องมันเนย รสจืดแทนรสหวาน
       4.  หากอยากดื่มน้ำหวานให้เลือกดื่มน้ำผลไม้สด ไม่เติมน้ำตาลแทน 
       5.  ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน (1 แก้ว ประมาณ 250 มิลลิลิตร) น้ำเปล่าจะช่วยป้องกันท้องผูก ผิวดูสดใส ไม่แห้งกร้าน
       6.  เลือกรับประทานผลไม้ที่รสไม่หวานเช่น  ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ เป็นอาหารว่างแทนขนมขบเคี้ยวที่มีไขมัน   เกลือและน้ำตาลสูง   
       7.  อ่านฉลากก่อนซื้อ โดยเลือกแบบที่ไม่เติมน้ำตาลเป็นดีที่สุด


                ในแต่ละวันร่างกายสามารถรับน้ำตาลจากอาหารอื่น ๆ ทั่วไป อาทิ ข้าว แป้ง ผัก และผลไม้ ซึ่งมีสารประเภทน้ำตาลรวมอยู่ในอาหารนั้นๆ อยู่แล้ว และพอเพียงต่อการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน วัยเรียนจึงควรปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารลดหวานให้เป็นนิสัยก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ จะส่งผลให้         มีสุขภาพดี มีความพร้อมในการเรียนรู้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิต

**แหล่งข้อมูลอ้างอิง : บทความวิชาการ การสร้างเสริมสุขภาพเด็กที่มีภาวะอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงโรคเบาหวานในโรงเรียน

(รำไพ หมั่นสระเกษ)
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มวัยเรียน  กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
                           https://multimedia.anamai.moph.go.th/ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข