เนื่องในวันฉลามวาฬสากล 30 ส.ค.
ป้อง ณวัฒน์ และไวลด์เอด ชวนดูสารคดีสั้นว่ายน้ำกับฉลามวาฬนับร้อยที่เม็กซิโก
กรุงเทพฯ (30 สิงหาคม 2564) – องค์กรไวล์ดเอดเผยแพร่สารคดีสั้น “SHARING OCEANS WITH SHARKS-ทะเลต้องมีฉลาม” เนื่องในวันฉลามวาฬสากล International Whale Shark Day ซึ่งตรงกับวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี โดยมีคุณ ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ นักแสดงและทูตฉลาม องค์กรไวล์ดเอด ร่วมว่ายน้ำกับฉลามวาฬนับร้อยที่รวมตัวกันบริเวณเกาะอิสลา มูเฮเรส นอกชายฝั่งเมืองกังกุน ประเทศเม็กซิโกเป็นประจำทุกปี ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งดำน้ำกับฉลามวาฬอันดับต้นๆ ของโลก และร่วมฟังมุมมองความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเลและชุมชนแม้ในช่วงหลายปีมานี้ นักดำน้ำในเมืองไทยมีโอกาสเจอฉลามวาฬบ่อยครั้งขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยโชคอยู่ไม่น้อย ถึงจะได้เจอซักตัว แต่ที่เม็กซิโก บริเวณเกาะอิสลา มูเฮเรส ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอ่าวเม็กซิโก และทะเลแคริบเบียน ฉลามวาฬนับร้อยจะรวมตัวกันช่วงฤดูร้อนราวเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคมของทุกปี เพื่อมากินไข่ทูน่าพันธุ์ลิตเติ้ล ทูนนี่อันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณนี้ โดยบางช่วงอาจเห็นการรวมตัวของฉลามวาฬมากกว่า 300 ตัว ในคราวเดียวและบริเวณเดียวกันสารคดีสั้นยกตัวอย่างแนวทางการอนุรักษ์และคุ้มครองฉลามของเม็กซิโก เช่น การกำหนดเขตคุ้มครองฉลามวาฬบริเวณรอยต่ออ่าวเม็กซิโกและทะเลแคริบเบียนที่ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร การส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ยังจับฉลามตามฤดูกาล มีส่วนร่วมอนุรักษ์ฉลามด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำกันมายาวนานหลายทศวรรษ มาทำด้านท่องเที่ยวโดยพานักท่องเที่ยวดำน้ำดูฉลามแทนการจับฉลาม และยังมีส่วนช่วยนักวิจัยติดระบบกำหนดตำแหน่งให้กับฉลาม เพื่อศึกษาพฤติกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดแนวทางอนุรักษ์ฉลาม และเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมพานักท่องเที่ยวดำน้ำดูฉลามอีกด้วย “การได้ว่ายน้ำกับฉลามวาฬจำนวนมากแบบนี้ เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้นมาก ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เรารู้จักที่จะเคารพการอยู่ร่วมกันกับเค้าด้วย การเดินทางในครั้งนี้ยังทำให้ผมได้เห็นว่า ฉลามไม่ได้มีความสำคัญแค่ต่อทะเล แต่มีคุณค่าต่อชุมชนและเศรษฐกิจของเมืองชายฝั่งที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางทะเลเพื่อยังชีพ นั่นทำให้เค้าให้ความสำคัญต่อการปกป้องฉลาม ไม่เฉพาะฉลามวาฬ แต่ฉลามทั้งหมดในน่านน้ำของเค้า ผมหวังว่าสารคดีสั้นเรื่องนี้ จะทำให้คนทั่วไปอยากรู้จักฉลามในน่านน้ำไทยและอยากมีส่วนร่วมผลักดันให้พวกมันได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ทุกๆ การกระทำของเราแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผล วิธีง่ายๆ ที่เราจะปกป้องฉลาม ก็คือ การไม่บริโภคฉลามครับ” ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ทูตฉลาม องค์กรไวล์เอด กล่าวคุณณวัฒน์ เป็นทูตโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม เพื่อลดความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2561 สารคดีสั้นเรื่องนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความสำคัญของฉลามที่มีต่อท้องทะเลและมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรไวล์ดเอดมีแผนที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าการมีอยู่ของฉลามในทะเลไทยต่อไปสารคดีสั้น “SHARING OCEANS WITH SHARKS – ทะเลต้องมีฉลาม” ผลิตโดยองค์กรไวล์ดเอด และถ่ายทำเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์กรซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐ มีโครงการเพื่อสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นในการเผ้าระวังและบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศอเมริกาใต้หลายแห่งสารคดีสั้นเผยแพร่แล้วทางโซเชียล มีเดียขององค์กรไวล์ดเอด พร้อมกับการเสวนาสดพูดคุยกับคุณณวัฒน์ ถึงประสบการณ์ที่เม็กซิโก โดยมีคุณแนนซี่ นัยน์ภัค ภูมิภักดิ์ นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เจ้าของเพจ Happy Nancy และ Dive Master เป็นพิธีกร
จัดขึ้นวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 18.00-18.45น ทาง Facebook และ Youtube ของ WildAid Thailand ตรงกับวันฉลามวาฬสากล- ทุกปี ฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อมาทำเป็นซุปหูฉลาม เมื่อเร็วๆนี้ งานวิจัยล่าสุดเรื่อง “Half a century of global decline in oceanic sharks and rays” ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอกย้ำการลดลงของประชากรฉลาม โดยระบุว่า จำนวนฉลามและกระเบนในทะเลหลวงลดลงกว่า 70% ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการทำประมงเกินขนาด เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค
- ผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหรือยังคงบริโภคหูฉลามอยู่ ขณะที่ 60% ยังคงต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยผู้บริโภคทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ เช่น งานแต่งงาน (72%) งานรวมญาติ (61%) และงานเลี้ยงธุรกิจ (47%)
- ในไทย ฉลามวาฬ เป็นสัตว์ป่าสงวน และล่าสุดคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งรวมถึง ฉลามหัวค้อน 4 ชนิดได้แก่ ฉลามหัวค้อนยาว ฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ฉลามหัวค้อนใหญ่ และฉลามหัวค้อนเรียบ ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป###
เกี่ยวกับ WildAid WildAid (www.wildaid.org) คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย WildAid เน้นรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค และความต้องการ ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า โดยเราหวังว่า ผู้บริโภคจะไม่กินหูฉลาม ไม่ซื้องาช้าง นอแรด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ อีกต่อไป เราทำงานรณรงค์ที่เอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง WildAid ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คน ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกนหลักขององค์กร “When the Buying Stops, the Killing Can Too หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า”www.wildaidthai.org http://www.facebook.com/wildaidthailand IG: @wildaidthailand