สบส.เปิดสถิติผู้ออกกำลังกายช่วงโควิด 19
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดผลสำรวจการออกกำลังกายช่วงโควิด 19 ซึ่งวิถีใหม่ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ประชาชนมีทัศนคติ ไม่ถูกต้องสูงสุดเกี่ยวกับการออกกำลังกาย คือ เรื่องไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเมื่อเหนื่อยจากการ ทำงานแล้ว และมีความคิดเห็นว่า การออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกาย ก็ส่งผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การทำงาน การเรียน การรักษาสุขภาพ ประชาชนจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 วิถีชีวิตของประชาชนเมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้มีการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมทางกายน้อยลง แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจว่าการออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคได้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ โดยการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ในกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 15 - 59 ปี เรื่อง พฤติกรรม การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข 76 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2564 ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนวัยทำงานส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องต่อการออกกำลังกายสูงสุด คือเรื่อง ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเมื่อเหนื่อยจากการทำงานแล้ว ตอบว่าเห็นด้วยเฉลี่ย 29.3 % รองลงมาคือ การออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกายก็ส่งผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน ตอบว่าเห็นด้วย 24.9 % ในด้านความรู้ความเข้าใจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ ในระดับดีมาก มีเพียง 11.6 % เท่านั้น เรื่องที่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่ถูกต้องสูงสุด คือ เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกายอยู่ระหว่าง 20 - 60 นาที ต่อครั้ง ตอบว่าไม่ใช่ เฉลี่ย 11.6 % รองลงมาคือเรื่อง การออกกำลังกายช่วยลดโอกาสป่วย ด้วยโรคไม่เรื้อรัง ตอบว่าไม่ใช่ 8.1 % นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากการป้องกันตนเอง โดยสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การล้างมือให้สะอาด หรือการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทุกคนจำเป็นต้องดูแลสุขภาพเชิงรุก เพราะมีความจำเป็นในสภาวะนี้ โดยการทำให้ร่างกายของตนเองแข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดีอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของร่างกาย เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ลดความเครียด นอกจากนี้การออกกำลังกายจะลดโอกาสการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ด้านนางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า การออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง วัยทำงานควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตามบริบทของผู้ออกกำลังกาย เช่น อุปกรณ์ สถานที่ เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน หากไม่มีอุปกรณ์หรือพื้นที่ อาจเลือกชนิดการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก เช่น การเล่นฮูลาฮูป โยคะ เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะรอบบริเวณบ้าน โดยใช้เวลาออกกำลังกายให้ได้ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนานครั้งละ 20 - 60 นาที จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ของระบบหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ หรือการมีกิจกรรมทางกาย เช่น ทำงานบ้าน การแกว่งแขน หรือการเดิน ก็ถือว่ามีผลดีต่อสุขภาพ เพราะช่วยลดโรค และถ้าทำต่อเนื่องยังสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ กินผักผลไม้ให้มาก ลดอาหารหวาน มัน เค็ม วัยทำงานการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอมีความสำคัญมาก ร่างกายจะเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ควรนอนหลับให้ได้วันละ 7 – 9 ชั่วโมง ทั้งนี้ประชาชนสามารถติดต่อผ่านช่องทางการติดต่อของกองสุขศึกษา ผ่านช่องทาง Facebook และเว็บไซต์กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ htpp://http://www.hed.go.th/