happy on August 06, 2021, 10:44:27 PM
การผ่าตัดส่องกล้องกับโรคมะเร็งปอด
โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงอายุในช่วงโควิด-19

โดย นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล


                ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การผ่าตัดในเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุถือว่ามีความยากลำบากพอสมควร จากขั้นตอนการเตรียมตัวผ่าตัด ที่ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนการผ่าตัดแล้ว เรื่องของการผ่าตัดส่องกล้องด้วยการรักษาโรคร้ายแรงจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ


                นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเป็นอีกโรคที่คร่าชีวิตผู้คนในโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมะเร็งทั้งหมดมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเวลาที่ค้นพบโรค ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะกระจายแล้ว ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งปอดยังคงเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของมะเร็งโดยรวม แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นและผู้คนเริ่มดูแลเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น รวมทั้งระบบการวินิจฉัยที่ดีขึ้น (Low dose CT chest screening ) ทำให้เราสามารถตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในระยะที่ 1 หรือ 2 ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้เราสามารถได้รับการรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องตัดปอดกลีบที่มีมะเร็งออกไปทั้งกลีบ (VATS Lobectomy)

                สำหรับผู้ป่วยผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่นั้น มักจะมีความกังวลเมื่อต้องได้รับการผ่าตัดปอด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโรคมะเร็งปอดมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากโดยเกณฑ์เฉลี่ย คือ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70  ปี ในบางรายอาจเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งความพิเศษในคนสูงอายุ คือ มักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือ โรคหัวใจ และ หลอดเลือดทางสมอง นอกจากนี้อวัยวะภายในจะเริ่มมีการเสื่อม ไม่เหมือนคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเหมือนสิ่งของที่มีการเสื่อมลง


                หลักการที่สำคัญของการผ่าตัดในผู้ป่วยสูงอายุนั้น การผ่าตัดในกลุ่มนี้นอกจากการผ่าตัดที่ต้องใช้ความแม่นยำและยังต้องการดูแลที่ดีตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดโดยหัวใจการรักษานั้น คือ การทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด ไม่นอนโรงพยาบาลนาน เนื่องจากการที่ผู้ป่วยสูงอายุต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลนาน จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดติดเชื้อ การติดเชื้อในท่อทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้จะต้องทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุด โดยใช้ยาแก้ปวดน้อยที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียงของยาแก้ปวด เช่น การกดการหายใจ

                ดังนั้นการผ่าตัดส่องกล้องจึงเป็นวิธีที่เหมาะสม โดยเราสามารถผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบ (Lobectomy) หรือ ผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ (Sublobar Resection) ด้วยการส่องกล้อง หรือ Video-Assisted Thoracic Surgery (VATS) โดยวิธีการผ่าตัดนี้  สามารถทำได้โดยการผ่าตัดแผลเดียว หรือเรียกว่า Uniportal VATS surgery โดยตำแหน่งของแผลอยู่ข้างลำตัว ส่วนการผ่าตัดเปิดช่องอกแบบเดิม (Thoracotomy) เป็นการผ่าตัดขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องขยายซี่โครง ขนาดแผล 15-20 เซนติเมตร การผ่าตัดส่องกล้องปอดนั้น จะสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด กลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ลดอาการปวดร้าวหรือชาตามเส้นประสาทและลดระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล ส่วนการที่จะเลือกทำการผ่าตัดเป็นทั้งกลีบหรือน้อยกว่าทั้งกลีบนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง การทำงานทางปอดของผู้ป่วยและอายุ โดยจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป


                สรุปการรักษาตามระยะของมะเร็งปอด นั้น มีการรักษามะเร็งปอดนั้นมี 3 วิธีการหลัก ๆ กล่าวคือ  1.การผ่าตัด 2.รักษาด้วยเคมีบำบัด และ​ 3.การฉายแสง โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคเมื่อตรวจพบ ซึ่ง แบ่งเป็นระยะได้ดังนี้

·                  ระยะที่ 1 : ในคนไข้กลุ่มนี้เราสามารถรักษาโดยผ่าตัดได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับเคมีบำบัดและฉายแสง ยิ่งถ้าหากพบ เช่น ก้อนขนาด 1 เซนติเมตร โอกาสรอดชีวิตในผู้ป่วยรายนี้เกิน 5 ปีหรือหายขาดได้สูงมากกว่า 90%

·                  ระยะที่ 2 (เริ่มมีการแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลือง) : ในคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก และมักต้องได้รับเคมีบำบัดร่วม

·                  ระยะที่ 3 (มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นในช่องอกหรือแพร่ผ่านต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด) : ในคนไข้กลุ่มนี้การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่เคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นหลัก อาจมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดร่วมเป็นกรณีไป

·             ระยะที่ 4 (มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่นหรือมีน้ำในช่องอกจากเชื้อมะเร็ง) : ในคนไข้กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ การผ่าตัดอาจมีส่วนร่วมเป็นกรณี แต่ค่อนข้างน้อยลง

ดังนั้นการผ่าตัดโดยการส่องกล้อง จึงมักจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ เพราะเป็นการทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วที่สุดและเจ็บปวดน้อยที่สุด