ภาคเอกชนจับมือกันร่วมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่บางนาตราด กม.5 รับผู้ป่วยได้ 450 เตียง เปิดรับผู้ป่วยต้นสิงหาคม เพื่อสอดรับนโยบายภาครัฐ
จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 ที่ประสบปัญหาผู้ป่วยล้น จนเตียงในโรงพยาบาลทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ รับผู้ป่วยเต็มหมด ซึ่งภาครัฐก็ได้เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และได้พยายามขยายงานในการให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงได้จับมือกับภาคเอกชนและมูลนิธิ เพื่อก่อตั้งโครงการโรงพยาบาลสนาม ที่ได้มาตรฐานตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงานผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา
โดยแต่ละภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันด้านการก่อสร้าง ด้านระบบปรับอากาศ การบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยขั้นสูงสุดของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดในศูนย์ และสภาพแวดล้อมโดยรวม และด้านการจัดส่งทีมแพทย์และพยาบาล เพื่อการดูแลรักษา และสาธารณสุขให้กับผู้ป่วย ด้านมูลนิธิที่เข้ามาร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์และมูลนิธิพุทธรักษา จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนต่อไป
โรงพยาบาลสนามดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ซอยวัดปลัดเปรียง ถนนบางนาตราด กม.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลีจ.สมุทรปราการ โดยตัวโรงพยาบาลจะเป็นเต็นท์ขนาดใหญ่ ติดระบบปรับอากาศ และระบบการระบายอากาศ ที่ปลอดภัยทั้งภายในโรงพยาบาล และภายนอก จำนวน 6 เต็นท์ผู้ป่วย รวม 450 เตียง โดยจะรับผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลืองอ่อน และมีโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ รองรับสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเปลี่ยนเป็นหนักขึ้น โดยโรงพยาบาลได้ขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนามนพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม “ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนโดยโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือบริษัทพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้ร่วมมือกับทาง MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา ได้ร่วมมือกัน โดยมีเทศบาลตำบลบางแก้ว และทางจังหวัดสมุทรปราการ ให้การสนับสนุนตามข้อกำหนดทางภาครัฐในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม แห่งนี้ขึ้นในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่หนึ่ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ตั้งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลสนาม เพียง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที และเรามีการสนับสนุนบุคลากรการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ อีก 11 สาขาร่วมมือด้วย ทั้งด้านเครื่องมือและบุคลากรการแพทย์เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาด โดยเราติดตามอาการของคนไข้ผ่านระบบ TeleHealth อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในปัจจุบันใกล้เต็มศักยภาพการรองรับ เช่นเดียวกับฮอสพิเทล (Hospitel) 3 แห่งอีกรวม 400 เตียงที่มีอัตราครองเตียงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา และยังมีการพัก
รักษาตัวโดยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ตามเกณฑ์ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง(สีเขียว) อีกหลายร้อยคน
การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยความร่วมมือภาคเอกชนเป็นแห่งแรก และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยชุมชนสังคมในและนอกพื้นที่แล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้การตรวจค้นหาเชิงรุกของโรงพยาบาลเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ในการแยกผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อยออกมารักษาที่โรงพยาบาลสนาม หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลงจะดำเนินการรับตัวเข้ามารักษาในโรงพยาบาลทันที ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีการลงทุนขยายห้องผู้ป่วย ICU เพิ่มขึ้นอีก 60 ห้อง รวมเป็น 85 ห้อง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรองรับการขยายโรงพยาบาลสนามในกรณีที่ผู้ป่วยอาการทรุดลง และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จะสามารถดูแลรักษาและรองรับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที” นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า "ในด้านการก่อสร้างลักษณะของอาคารเป็นโครงสร้างประกอบ เพื่อทำให้สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ภายในจะมีการเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขภาพ ทั้งของผู้ป่วย และบุคลากรสนับสนุนในโรงพยาบาลสนาม อาทิ ใช้สีแบ่งโซนการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น โซนแดง คือโซนผู้ป่วย โซนเขียว โซนปลอดภัย สำหรับกลุ่มบุคลากร ในช่วงพักผ่อน พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากบริษัทก่อสร้างชั้นนำที่ได้มาตรฐาน จำนวน 8 บริษัทที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเรา อาทิ สี่พระยาก่อสร้าง วิศวภัทร์ เป็นต้น การแบ่งพื้นที่ใช้สอยหลักเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวน 450 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 225 ผู้ป่วยหญิง 225 เน้นรับผู้ป่วยสีเขียวเป็นหลัก และได้แบ่งพื้นที่ ไว้รองรับสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองอ่อน จำนวน 20 เตียง พร้อมทั้งอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระบบ oxygen ได้จัดเครื่องช่วยหายใจ (Highflow) ไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และ มีอาการเชื้อลงปอด
รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จัดให้มีหุ่นยนต์ส่งของ “ปิ่นโต” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดนี้ จำนวน 12 ตัว ทำหน้าที่รับส่งยา อาหาร เครื่องดื่ม และพัสดุจำเป็นใดๆแก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการสื่อสารทางไกล ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย “ไข่ต้ม Hospital” ซึ่งเป็นระบบ telemedicine ที่พัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น มาช่วยในการสื่อสารและติดตามอาการผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงของบุคคลากร ประหยัดการใช้อุปกรณ์ป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่
ทาง MQDC ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ และผู้ร่วมก่อตั้งทุกภาคี รวมถึงทางภาครัฐ คือ เทศบาลตำบาลบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้โอกาสเราได้ร่วมทำโครงการนี้ครับ”นายเกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสอันดีของกลุ่มบริษัทอีอีซี พนักงาน และครอบครัวทุกคน ที่ได้มีโอกาสร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามนี้ โดย อีอีซี ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการในการออกแบบสถานพยาบาลมากกว่า 40 ปี ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ให้มีมาตรฐาน และป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อทางอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์อย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ โถงผู้ป่วยจัดให้มีระบบปรับอากาศ ที่จ่ายลมเย็นที่เป็นอากาศที่ผ่านการกรองอากาศจากภายนอก 100% หรือ All fresh air โดยอากาศที่จ่ายให้ผู้ป่วยทุกคนมาจากภายนอกอาคารนำมาผ่านการกรองให้สะอาดและทำให้เย็น การจ่ายความเย็นจะจ่ายที่เตียงผู้ป่วยแต่ละเตียงโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมความสะอาดและทิศทางการไหลของอากาศจากปลายเตียงและถูกดูดออกด้วยพัดลมระบายอากาศที่หัวเตียง ดังนั้นอากาศที่ผู้ป่วยแต่ละเตียงได้รับจะไม่ใช่อากาศหมุนเวียนมาจากพื้นที่อื่นๆภายในอาคาร
ความดันอากาศของโรงพยาบาลได้ออกแบบให้มีความดันเป็นลบเพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปพื้นที่โดยรอบ อากาศก่อนปล่อยออกภายนอกอาคารจะถูกกรองผ่าน HEPA filter ซึ่งมีประสิทธิภาพการกรอง 99.9% และฆ่าเชื้อด้วย UVGI และปล่อยออกที่ระดับสูงเหนือลมขึ้นไป
ทิศทางการไหลของอากาศและความดันอากาศแต่ละพื้นที่ได้ถูกออกแบบวางผังเพื่อแยกส่วนพื้นที่อากาศสะอาดและอากาศปนเปื้อนออกจากกัน ทั้งนี้เพื่อดูแลให้บุคลากรด่านหน้าของเรามีความปลอดภัยสูงสุดครับ”นายเอกศิษฐ์ เฉลิมรัฐวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตและฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทีแอนด์บีฯ และบริษัทในเครือ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ ด้วยจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอต่อการรองรับ การสร้างโรงพยาบาลสนามจึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยายาลของประชาชนและสนับสนุนการดำเนินการขยายโรงพยาบาลสนามซึ่งทางภาครัฐกำลังเร่งจัดตั้ง โดยเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้อย่าง โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์ และมูลนิธิพุทธรักษา ต่างร่วมมือกันในการทำให้งานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการระดมทุน ดำเนินงานจัดสร้างและตั้งระบบต่างๆ และอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของภาคเอกชน ที่อาสาเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนคนไทย และแบ่งเบาภาระหน้าที่ของทางภาครัฐ เพื่อให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตของผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วยกันให้ได้ทุกภาคส่วน”
โรงพยาบาลสนาม จะเปิดรับผู้ป่วยในเดือนสิงหาคมนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และการดำเนินการ สำหรับช่องทางการติดต่อจะแจ้งให้ทราบทางสื่อต่อไป