ทรูรายงานผลการดำเนินงานปี 2552 ทั้งรายได้และ EBITDA เติบโตเพิ่มขึ้น
ทรูมูฟมีผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง
บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการประจำปี 2552 ทั้งรายได้ และ EBITDA เติบโตขึ้น ทรูมูฟ มีผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง ในขณะที่ บริการบรอดแบนด์ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ความสำเร็จของกลยุทธ์การขยายตลาดสู่ลูกค้าระดับกลางและล่าง ตลอดจนการเริ่มรับทำการโฆษณาในช่องรายการของทรูวิชั่นส์ ช่วยให้กลุ่มสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากนั้น กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงพัฒนาต่อเนื่องและช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้บริการของกลุ่มทรู
ในปี 2552 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เป็น 52.6 พันล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจ นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากปีที่ผ่านมา เป็น 19.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพิ่มเติม จากการจำหน่ายเครื่อง iPhone ในขณะที่ค่า IC สุทธิลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้นการควบคุมค่า ใช้จ่าย ยังช่วยให้สามารถรักษาอัตราการทำกำไร ณ ระดับ EBITDA (EBITDA margin) ไว้ได้
นอกจากนี้ ในปี 2552 ทรูมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) เพิ่มขึ้น 223 ล้านบาท เป็นจำนวน 511 ล้านบาท ก่อนภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ทรูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวนทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 2.4 พันล้านบาทในปี 2551 โดยส่วนใหญ่เนื่องจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ในปี 2552 ธุรกิจของทรูมีความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน แม้ต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยรายได้จากบริการโดยรวมของกลุ่มทรูเติบโตตามเป้าหมาย ในขณะที่ผลประกอบการของทรมูฟปรับตัวดีขึ้นมาก”
“กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มทรูตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 จากปีที่ผ่านมา เป็นจำนวนกว่า 2.3 ล้านครัวเรือนในปี 2552 เนื่องจาก โปรโมชั่นที่รวมบริการต่างๆ ของทรูเข้าด้วยกัน ได้รับการตอบสนองที่ดีจากตลาด จนทำให้ยอด ผู้ใช้บริการแพ็คเกจที่รวมบริการทรูวิชั่นส์และทรูมูฟ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 ล้านราย ในปี 2552”
สำหรับ ทรูมูฟ ปี 2552 รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จาก IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เป็น 23.6 พันล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการแบบรายเดือนและบริการที่ไม่ใช่เสียง ซึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 17.8 และ 17.0 ตามลำดับ นอกจากนั้น EBITDA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.0 เป็น 7.2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่า IC สุทธิที่ลดลงจำนวน 813 ล้านบาท ทั้งนี้ ความสำเร็จในการเปิดตัว iPhone 3G และ iPhone 3GS ซึ่งมียอดจำหน่ายมากกว่า 100,000 เครื่อง มีส่วนช่วยสนับสนุนบริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2552 ทรูมูฟมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 15.8 ล้านราย โดยมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 1 ล้านราย ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดราว 1 ใน 3 ของลูกค้ารายใหม่ของตลาดโดยรวม
รายได้จากการให้บริการของทรูออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากปี 2551 เป็น 26.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการเติบโตของบริการบรอดแบนด์และคอนเวอร์เจนซ์ รวมทั้งบริการใหม่ๆ อาทิ บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศและบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รายได้จากบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 (เป็น 5.5 พันล้านบาท) แม้การแข่งขันในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้น แต่บริการบรอดแบนด์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ทำให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9.2 และมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 690,000 ราย ในขณะที่บริการ Wi-Fi มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 เท่า เป็นประมาณ 263,000 ราย ในปี 2552
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เป็น 9.5 พันล้านบาท เนื่องจากกลยุทธ์การขยายตลาดสู่ลูกค้าในระดับกลางและล่างประสบความสำเร็จต่อเนื่อง รวมทั้งเริ่มมีรายได้จากการรับทำการโฆษณาในช่องรายการต่างๆ ทั้งนี้ทรูวิชั่นส์มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.2 เป็น 1.7 ล้านรายในปี 2552 ในขณะที่อัตราการเปลี่ยนแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในระดับกลางและล่างมาใช้แพ็คเกจที่มีราคาสูงกว่าของทรูวิชั่นส์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.5
กลุ่มทรูยังคงมุ่งมั่นลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 ได้ชำระคืนหนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 6.8 พันล้านบาท ทำให้หนี้สินระยะยาวโดยรวมลดลงเป็น 68 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุด ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ปี 2540 นอกจากนั้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็น 3.1 เท่า ในปี 2552 จาก 3.7 เท่า ในปี 2551
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “ในปี 2552 ความน่าเชื่อถือทาง การเงินของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ถึงแม้เป็นปีที่มีความท้าทาย แต่กลุ่มทรูสามารถระดมทุนได้จำนวนรวม 19.6 พันล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในตลาดหุ้นกู้และหุ้นทุน ทั้งนี้ทรูได้ระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญใหม่เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) จำนวน 6.4 พันล้านบาทใน ต้นปี 2552 ทำให้งบดุลของกลุ่มทรูมีความแข่งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาททั้งสองครั้งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ทำให้สามารถระดมทุนได้จำนวน 13.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงให้ความสำคัญในการเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับปี 2553 นายศุภชัย กล่าวว่า “กลุ่มทรูมีนโยบายที่จะต่อยอดความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปี 2552 ภายใต้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ เพื่อเพิ่มรายได้จากการให้บริการ รวมทั้งยังคงมุ่งเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดเพื่อเพิ่มผลกำไร
“สำหรับทรูมูฟ คาดว่า จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความล่าช้าในการออกใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 850 MHz ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริการที่ไม่ใช่เสียง สำหรับทรูออนไลน์ บริษัทจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำบริการบรอดแบนด์ในเขตกรุงเทพมหานคร และขยายบริการสู่ตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น รวมทั้ง มีแผนที่จะเพิ่มลูกค้าระดับบน ด้วยการนำเสนอบริการ Ultra hi-speed ที่ความเร็ว 30 Mbps ขึ้นไป สำหรับทรูวิชั่นส์ จะยังคงขยายการเติบโตในตลาดระดับกลางและล่าง รวมทั้งพัฒนารายได้จากค่าโฆษณา ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มช่องรายการ เพื่อให้สมาชิกได้รับประสบการณ์การรับชมที่ดียิ่งขึ้น” นายศุภชัย กล่าวปิดท้าย
ข้อมูล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรหนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle เชื่อมโยงทุกบริการ พร้อมพัฒนาโซลูชั่น ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างแท้จริง สำหรับกลุ่มลูกค้า ทั้งลูกค้าทั่วไป กลุ่มธุรกิจองค์กรขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ในทุกรูปแบบของเสียง ข้อมูล และมัลติมีเดียต่างๆ ตรงใจลูกค้าทุกกลุ่มทุกไลฟ์สไตล์ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนเป็น ผู้ประกอบการสำคัญในตลาดธุรกิจสื่อสารระบบไร้สาย และอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ทรู ยังมีบริษัทย่อยสำคัญในกลุ่ม คือ ทรู วิชั่นส์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และ ทรูมูฟ ผู้ให้บริการระบบสื่อสารไร้สาย โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ ทรู ยังนำเสนอนวัตกรรมและบริการต่างๆ เชื่อมโยง ให้อิสระในการเติมเต็มชีวิตประจำวัน เพื่อเข้าถึงความรู้ ข้อมูล และสาระบันเทิง ตลอดจนการทำธุรกรรมออนไลน์ครบวงจร ทุกที่ ทุกเวลา ตามต้องการให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ภายใต้ 5 ธุรกิจหลักครบวงจร ทรูมูฟ ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่นส์ ทรูมันนี่ ทรูไลฟ์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่
www.truecorp.co.th