ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน จับมือ การรถไฟแห่งประเทศไทย มอบเงินสนับสนุน
โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรจัดซื้อชุดตรวจโควิด 19
จากภาพ: นายสุชีพ สุขสว่าง (ที่ 2 จากซ้าย) นายเหว่ยเหวย หวง (ที่ 2 จากขวา)
นาย สุเทพ เตมานุวัตร์ (ขวา) นายแพทย์องอาจ จริยาสถาพร (ซ้าย) กรุงเทพมหานคร— นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายเหว่ยเหวย หวง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ และ นาย สุเทพ เตมานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ร่วมมอบเงินสนับสนุนงบประมาณโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อชุดตรวจโควิด 19 แบบ แรพิด แอนติเจน เทสต์ จำนวนทั้งสิ้น 800 ชุด เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อพนักงาน และลูกจ้างการรถไฟฯ โดยมีนายแพทย์องอาจ จริยาสถาพร หัวหน้าสำนักงานแพทย์ โรงพยาบาล บุรฉัตรไชยากร เป็นผู้รับมอบ ณ ตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าชุดตรวจโควิด 19 เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพนักงาน และลูกจ้างการรถไฟ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้านการให้บริการประชาชน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถช่วยแยกผู้ติดเชื้อออกจากสังคม และเข้าสู่กระบวนการกักตัวได้อย่างทันท่วงที และจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อบุคคลอื่น โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ประสานงานกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เพื่อร่วมกันมอบเงินสนับสนุนให้แก่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ในการนำไปจัดหาชุดตรวจโควิด 19 เป็นการเร่งด่วน “ต้องขอขอบคุณ บริษัท รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ในความร่วมมืออันดีที่มีให้แก่กันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาหน้ากากอนามัย และสิ่งของจำเป็นในการป้องกัน และลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้แก่พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟ ตลอดจนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมาโดยตลอด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการมอบเงินสนับสนุนให้แก่โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรในวันนี้ จะสามารถช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์คัดกรองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วแยกผู้ติดเชื้อและพาเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไปได้ทันท่วงที” ด้านนายเหว่ยเหวย หวง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวว่าความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทฯ ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกันกับบริษัทฯ สอดคล้องกับหลักค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ประเทศชาติ และประชาชนไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นที่ตั้ง “วันนี้ บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมร้อยเรียงความดีแก่สังคม ภายใต้โครงการ “ซีพีร้อยเรียงความดี” เนื่องในโอกาสที่เครือฯ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสนับสนุนนงบประมาณโรงพยาบาล บุรฉัตรไชยากร เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อชุดตรวจโควิด 19 ในวันนี้ จะสามารถช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ และบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนคลายความกังวลใจให้แก่พนักงานการรถไฟได้ส่วนหนึ่ง บริษัทฯ ขอส่งความห่วงใย และกำลังใจให้ทุกท่านสามารถผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ด้วยกัน” ด้านนายแพทย์องอาจ จริยาสถาพร หัวหน้าสำนักงานแพทย์ โรงพยาบาล บุรฉัตรไชยากร กล่าวว่า โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ให้บริการประชาชน พนักงาน และครอบครัวพนักงาน และลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่มักกะสันเป็นหลัก ปัจจุบัน โรงพยาบาลฯ มีความพยายามตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้อย่างน้อยระหว่างรอเข้าสู่กระบวนการรักษา ก็สามารถคัดแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว และชุมชน ก่อนเกิดการระบาดในวงกว้าง “ในนามของบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร ผมขอขอบคุณการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่สนับสนุนงบประมาณในการซื้อชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็น และจะมีประโยชน์มาก นับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้”####
เกี่ยวกับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัดบริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เป็นบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รายแรก ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย ให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี