sianbun on March 11, 2009, 12:06:07 PM
ไอบีเอ็มเปิดตัวนวัตกรรมโครงสร้างไอทีแห่งศตวรรษที่ 21
นวัตกรรมที่ผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิตอลเข้าด้วยกัน
รองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในยุคที่โลกเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน

บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดตัวบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อช่วยให้ลูกค้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่ระบบอัตโนมัติ การควบรวมระบบ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางดิจิตอลและทางกายภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบก้าวกระโดด ช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถตอบสนองและจัดการกับความท้าทายที่มาพร้อมกับโลกที่เชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของไอบีเอ็มถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกค้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่สอดรับกับความท้าทายที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามทางด้านไอทีรูปแบบใหม่ ๆ ระบบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา กฏเกณฑ์หรือระเบียบใหม่ ๆ ที่มีผลต่อการจัดการระบบไอที หรือแม้กระทั่งความท้าทายในยุคที่โลก “ฉลาดขึ้น” ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชากรหนึ่งในสามของโลกจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตภายในปีพ.ศ. 2554 จำนวนผู้ที่เข้าเว็บผ่านมือถือกว่า 4 พันล้านคนในปัจจุบัน หรือปริมาณข้อมูลเชิงลึกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลซึ่งมีผลมาจากเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ใช้ในโลกสารพัดแบบ เช่น สมาร์ทเซ็นเซอร์ที่ใช้งานอยู่ตามจุดต่าง ๆ รอบตัวเรา อาร์เอฟไอดีแท๊กส์ ระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ระบบกริดอัจฉริยะ เป็นต้น ความท้าทายเหล่านี้คือโจทย์ที่สำคัญต่อการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีสำหรับองค์กรในยุคปัจจุบัน

ด้วยความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายดังกล่าว ไอบีเอ็มได้ออกแบบและพัฒนาแนวทางโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบไดนามิก
(Dynamic Infrastructure) เพื่อรองรับความท้าทายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

•   การผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิตอลเข้าด้วยกัน เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ไอทีในการบริหารจัดการระบบงานธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถรองรับบริการในรูปแบบใหม่ ๆ (รูปแบบบริการดังกล่าวเรียกว่า การจัดการด้านบริการ หรือ Service Management) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
•   ความสามารถในการบริหาร จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 15 เพทาไบต์ในแต่ละวัน ด้วยปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมหาศาลซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะต่าง ๆ นี้เอง ทำให้องค์กรต่าง ๆ จำต้องหาวิธีบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันก็จำต้องให้การบริหารจัดการข้อมูลสอดคล้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ  และกฏเกณฑ์ใหม่ ๆ  ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในการเก็บรักษาข้อมูล การบริหารความเสี่ยง และการจัดการด้านความปลอดภัยข้อมูล เป็นต้น
•   ความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากปัจจุบันองค์กรหลายแห่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับระบบดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าพื้นที่ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าจากปีพ.ศ. 2539 ในขณะที่การใช้งานโดยเฉลี่ยของระบบเซิร์ฟเวอร์โดยทั่วไปมีอัตราการใช้งานเพียงแค่ 6-15% เท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความท้าทายต่าง ๆ นี้เอง ไอบีเอ็มจึงคิดค้นและออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรที่ต้องการระบบที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ (Dynamic Infrastructure) ดังต่อไปนี้ 

•   เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ และซอฟต์แวร์เพื่อจัดการปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน (Data Deduplication) ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดังกล่าวได้แก่ ไอบีเอ็ม โปรเท็คเทียร์ (IBM TS7650 ProtecTIER® Deduplication Appliance) ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดการปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อนและช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บรักษาข้อมูลได้นานขึ้น พร้อมทั้งช่วยปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีความเสถียรมากขึ้น ช่วยองค์กรประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการลดการใช้พลังงาน พื้นที่ติดตั้ง และการบำรุงรักษา และจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลขององค์กร
•   ระบบสตอเรจ ไอบีเอ็ม เอ็กซ์ไอวี (IBM XIV) ระบบสตอเรจรุ่นใหม่ซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น เช่นในกรณีที่ข้อมูลมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการใช้งานแอพพลิเคชั่นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น แอพพลิเคชั่นด้านการเงิน ระบบโรงพยาบาล หรือเวิร์กโหลดใหม่ๆ เช่น สื่อดิจิตอล และเว็บ 2.0 เป็นต้น
•   เซิร์ฟเวอร์ซิสเต็ม ซี10 (System z10) หรือเมนเฟรม ทั้งเอ็นเตอร์ไพรส์คลาส (EC) สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และบิสิเนส คลาสสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพอันหลากหลาย และมีความยืดหยุ่น รองรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นเรื่องความสามารถในการจัดการพลังงาน และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายแล้วยังมีความเสถียรและปลอดภัยสูงอีกด้วย
•   ซอฟต์แวร์และบริการใหม่ภายใต้โซลูชั่นไอบีเอ็ม เซอร์วิส แมเนจเมนท์ ซอฟต์แวร์และบริการดังกล่าวถูกออกแบบขึ้นเพื่อธุรกิจ 7 ประเภท ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค เคมีและปิโตรเลียม โทรคมนาคม ค้าปลีก ธนาคาร อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิต  โดยซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น ไอบีเอ็ม ทิโวลี่และการบริการทั้งในด้านการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางเทคโนโลยี ล้วนสนับสนุนให้องค์กรสามารถออกแบบและติดตั้งระบบไอทีที่จัดการและตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดในลักษณะรวมศูนย์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้ทรัพยากรทางด้านไอทีขององค์กร เช่น อุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น “มิเตอร์อัจฉริยะ” และ RFID เป็นต้น
•   บริการทางด้านการรักษาความปลอดภัยจากแผนกไอเอสเอสของไอบีเอ็ม (Internet Security Systems – ISS)  ช่วยให้ลูกค้าองค์กรปกป้องข้อมูลสำคัญๆ ตั้งแต่ระบบเครือข่ายภายในองค์กรไปจนถึงเครือข่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล็ดลอดนำข้อมูลสำคัญออกไปผ่านเครือข่าย โซลูชั่นการเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูล เช่น ในกรณีที่อุปกรณ์เชื่อมต่อสูญหายหรือถูกโจรกรรม นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบและควบคุมการใช้อุปกรณ์สตอเรจภายนอกเพื่อจัดเก็บและเคลื่อนย้ายข้อมูล และการปรับปรุงความปลอดภัยของอีเมลทั้งขาเข้าและขาออก เป็นต้น
•   ซอฟต์แวร์อินโฟสเฟียร์ แวร์เฮาส์ (InfoSphere Warehouse) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้ในแบบเรียลไทม์ โดยอ้างอิงจากข้อมูลธุรกิจสำคัญๆ เพื่อปรับปรุงการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการบริหารคลังข้อมูล (Data Warehouse) ที่สนับสนุนแอพพลิเคชั่นระบบธุรกิจอัจริยะ (Business Intelligence) เช่น ซอฟต์แวร์คอกนอส เป็นต้น
•   ซอฟต์แวร์ไอบีเอ็ม ซิสเต็มส์ ไดเร็คเตอร์  (IBM Systems Director) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรทั้งแบบกายภาพและเสมือนในระบบดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบัน  ซึ่งทำงานในสภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ยูนิกซ์ หรือ ลินึกซ์ โดยเครื่องมือต่าง ๆ ในซอฟต์แวร์นี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้จัดการฝ่ายไอทีสามารถควบคุมและสร้างระบบอัตโนมัติสำหรับเซิร์ฟเวอร์ทั้งแบบกายภาพและเสมือน หรือปรับ เพิ่ม ลดการใช้พลังงานตามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิของฮาร์ดแวร์และการใช้พลังงานในดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ยังช่วยตรวจสอบการทำงานของฮาร์ดแวร์ระยะไกล และดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเมื่อได้รับการแจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมโครงสร้างไอทีสำหรับศตวรรษที่ 21 ของไอบีเอ็ม สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/dynamicinfrastructure
                  # # # # # #